12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ



พระราชประวัติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระธิดาของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บิดาของหม่อมหลวงบัว ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพระรามที่ 6 จังหวัดพระนคร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า "สิริกิติ์” " ซึ่งมีความหมายว่า ผู้เป็นศรีแห่งราชสกุลกิติยากร และมีฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมราชวงศ์หญิง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระเชษฐาและพระกนิษฐา ดังนี้
1. หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
2. หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
3. หม่อมราชวงศ์บุษา กิติยากร



ขณะทรงพระเยาว์

ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการ รัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่ ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ 3 เดือน โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ และท้าววนิดาพิจาริณี บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว ดังนั้นจึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปสรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา
ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาประเทศไทย จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ชันษา 6 เดือน ได้กลับมาอยู่รวมพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักใน วังเทเวศร์ บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

การศึกษา

พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ทรงมีอายุได้ 4 ชันษา ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทยจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือ สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนจบชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน พระบิดาย้ายไปเดนมาร์กและฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีส โดยทางรถยนต์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพราะประสงค์จะเลือกซื้อรถยนต์พระที่นั่งแทนคันเดิม และยังได้รับชมการแสดงดนตรีของคณะที่มีชื่อเสียงด้วย ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินมายังกรุงปารีส ก็ได้ประทับที่สถานทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกันกับนักเรียนไทยคนอื่นในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความความสัมพันธ์ขึ้น



อภิเษกสมรส

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. 2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับ
เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย
ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระหัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ แล้วเสด็จฯ กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2495



สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ออกผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน เป็นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้น พระองค์ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภาระกิจในคราวนี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช
ต่อมา ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศว่า ตามราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เคยมีประกาศให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช และได้ปฏิบัติพระราชภาระกิจแทนพระองค์ด้วยพระปรีชาสามารถ สนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" นับว่าทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ของประเทศไทย โดยพระองค์แรก คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)

พระราชโอรส-ธิดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้

1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาลมองซัวซี นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ต่อมาได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์ (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) เพื่อทรงสมรสกับ นายปีเตอร์ เจนเซ่น ชาวอเมริกัน ทรงมีพระโอรส 1 องค์ และพระธิดา 2 องค์

2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ต่อมา ทรงได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอภิเษกสมรสกับ หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ), นางสาวยุวธิดา ผลประเสริฐ (หรือ หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันคือ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์) และ นางสาวศรีรัศมิ์ อัครพงศ์ปรีชา (หรือ หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ) ทรงมีพระโอรส 1 พระองค์ กับ 4 องค์ และ พระธิดา 2 พระองค์

3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ต่อมา ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ประจำปี พ.ศ. 2520

4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ทรงอภิเษกสมรสกับ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน (ในขณะนั้น มียศเรืออากาศโท) ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์

พระราชนิพนธ์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึก เรื่อง "ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ" เมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นพระราชนิพนธ์ที่คนไทยควรจะได้อ่าน และตระหนักถึงพระปรีชาสามารถในด้านอักษรของพระองค์ท่านอีกอย่างหนึ่งด้วย
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ปวงชนชาวไทยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนจึงได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระองค์ท่าน และเป็นการสำนึกถึงคุณของแม่ไปพร้อมด้วย ด้วยนับถือกันทั่วไปว่า พระองค์เปรียบประดุจแม่ของปวงชนชาวไทยทั้งปวง เคียงข้างพ่อของชาวไทย นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสมอมา



พระยศทหาร

พ.ศ. 2502 พันเอกหญิง ผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ และ นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
พ.ศ. 2514 นาวาเอกหญิง นาวาอากาศเอกหญิง นายทหารพิเศษประจำกองทัพเรือ และ นายทหารพิเศษประจำกองทัพอากาศ
พ.ศ. 2525 นายกองใหญ่ กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
พ.ศ. 2530 พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง
พ.ศ. 2535 จอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง จอมพลอากาศหญิง

พระราชกรณียกิจ

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษาและทรงยึดหมั่นใน คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ปัญญาทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" สติปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอ่านหนังสือ ซึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจด้านการศึกษานานัปการ
ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อุดหนุนโรงเรียนทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนแก่นักเรียน และทรงรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงสร้างศาลารวมใจเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ชาวบ้านสามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนพระทัยในศิลปกรรมพื้นบ้านที่จัดทำขึ้นโดยใช้วัสดุในท้องถิ่น โดยใหมีครูออกไปฝึกสอนราษฎรเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อราษฎรมีความชำนาญแล้วผลงานที่ผลิตออกมาจะทรงรับซื้อไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งต่อมาได้ขยายออกเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

- ด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมในภาคต่าง ๆ และทรงมีพระราชดำรัสถามราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทำให้ทรงทราบว่าราษฎรในชนบทจำนวนมากยากจน มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพและไม่สามารถที่จะหารายได้เพิ่ม ขาดแคลนสาธารณสุขพื้นฐาน ขาดสุขอนามัย ยามเจ็บไข้ไม่มีแพทย์และยารักษาโรค จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น
เมื่อทรงพบเห็นราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมีอาการเจ็บป่วย ทรงมี พระราชเสาวนีย์ให้แพทย์ที่ตามเสด็จไปในขบวนตรวจรักษา และให้คำแนะนำแก่ราษฎรในการดูแลรักษาตนเอง แต่หากไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในขณะนั้น จะมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้ท้องถิ่น และหลายครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงช่วยซักถามประวัติและอาการของผู้ป่วย ตลอดจนช่วยแพทย์ในการจ่ายยา และบันทึกเพื่อติดตามผล นอกจากนี้พระองค์ได้พระราชทาน พระราชทรัพย์เพื่อจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้และยาเพิ่มขึ้นด้วย



ด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญพระองค์หนึ่ง และทรงดำเนินตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด ทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสภาพแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรงได้พระราชทานพระราชดำริตลอดจนทรงดำเนินการตามหลักของพระองค์เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ คือ "ให้ป่าอยู่กับคนได้คนอยู่กับป่าได้ โดยไม่มีการทำลาย กล่าวคือ เมื่อชาวบ้านปลูกป่าเองเกิดความรักในป่าไม้ และรู้จักประโยชน์จากป่าไม้แล้ว ก็จะเลิกการตัดไม้ทำลายป่าไม้ที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธาร ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของชีวิตมนุษย์ เพราะมนุษย์เรานั้นจะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าขาดน้ำอันเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในบรรดาปัจจัยของการดำรงชีวิตทั้งหมด"

ด้านความมั่นคงของประเทศ
พระองค์ทรงส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้และประชาชนในชนบทห่างไกล โดยเฉพาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทรงรับโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น
- โครงการราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน
- โครงการฟาร์มตัวอย่าง

ด้านวัฒนธรรม
ทรงฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้กลับคืนมาเป็นงานศิลปาชีพ ชุดแต่งกายแบบไทยที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหม นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูการทอผ้าพื้นบ้านภาคต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น
- ภาคใต้ ซึ่งมีผ้าลายดอกพิกุล ลายดอกมะลิ ลายราชวัติ
- ภาคเหนือมีลายปักต่าง ๆ ของชาวไทยภูเขา
- ภาคอีสานมีผ้ามัดหมี่และผ้าขิดลายต่าง ๆ
ทรงส่งเสริมการประกวดผ้าแบบไทยโบราณที่ผลิตขึ้นใหม่ ทำให้การทอผ้าของไทยได้กลับฟื้นคืนมาเป็น ที่นิยมอย่างแพร่หลาย



ด้านศาสนา
ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการอุปถัมภ์ศาสนา นอกจากจะทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาอย่างสม่ำเสมอแล้วทรงทะนุบำรุงศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศริสต์ อิสลาม พราหมณ์ฮินดู และซิกซ์ เพราะทรงถือว่าทุกศาสนาต่างก็มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินหรือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในงานพิธีของศาสนาต่าง ๆ โดยมิทรงเลือกว่าเป็นงานพิธีของศาสนาใด
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กลุ่มนักข่าวหญิงเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๔ ว่า "ฉันรู้สึกว่า ชีวิตของฉันโดยฐานะส่วนตัว และในฐานะที่เป็นพระราชินี ถ้าเผื่อไม่ได้พระพุทธศาสนาก็คงจะแข็งแรงไม่ได้อย่างนี้"

โครงการพระราชดำริ

1. โครงการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารโดยทหารกองหนุน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ให้หมู่บ้านทหารกองหนุนเป็นหมู่บ้านผลิตอาหาร โดยให้สามารถทำการผลิตอาหารเพื่อใช้บริโภคภายในหมู่บ้าน หากมีเหลือให้นำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายยังชุมชนข้างเคียง โครงการนี้เริ่มต้นรับสมาชิก จากทหารกองหนุน และราษฎรอาสาสมัครชายแดน จำนวน ๒๐ ครอบครัว เข้าเป็นสมาชิก มีกิจกรรมหลักคือ ผลิตอาหาร สร้างอาชีพ ดูแลรักษาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่ให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกบริหารงานกันเอง สร้างจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมต่อการบริหารโครงการและต่อสังคมรอบตัว จึงเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
2. โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า
เป็นการฝึกอบรมราษฎร ในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจ ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ปลูกฝังความรัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นของตนรวมทั้งคอยดูแลสอดส่อง มิให้มีการบุกรุก และลักลอบตัดไม้ทำลายป่าแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ซึ่งยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงมีพระราชดำรัสว่า "พื้นที่บนภูเขาเป็นที่ราบสูง กว้างขวาง มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ และยังมีสัตว์อยู่มากมายหลายชนิดเหมาะสมที่จะอนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพัฒนาให้เป็นสวนสัตว์ป่าเปิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต และการที่จะดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จนั้น จะต้องยับยั้งไม่ให้ประชาชนบุกรุกป่าและล่าสัตว์ โดยพัฒนาหมู่บ้าน บริเวณใกล้เคียงภูเขียวทั้งหมดให้มีความเจริญ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความอยู่ดีกินดี ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรับผิดชอบ รักป่าและสัตว์ป่า จะได้ช่วยกันดูแลป้องกันมิให้ราษฎรจากหมู่บ้านอื่นๆ ขึ้นไปล่าสัตว์ป่าด้วย "
วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อจัดทำแผนงานโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวขึ้น โดยการวางแผนเกี่ยวกับ การพัฒนาหมู่บ้านโดยรอบภูเขียวให้มีความอยู่ดีกินดีปลูกฝังให้รัก
4. โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่
เป็นโครงการที่เข้าจัดระเบียบ ให้ประชาชนอยู่กันเป็นกลุ่มๆ โดยรอบป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพเสริมให้ กับประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบครัว มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงซึ่งจะทำให้ประชาชนหยุดการบุกรุกทำลายป่าไม้ และช่วยดูแลรักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม

5. โครงการป่ารักน้ำ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเห็นว่าป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ กำลังถูกแผ้วถางทำลาย อย่างรวดเร็ว จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการชักชวนประชาชนทั่วไปและข้าราชการส่วนต่าง ๆ ร่วมกันปลูกป่าตัวอย่างเพื่อเป็นการชักชวนให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนป่าไม้ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำพิธีขึ้นครั้งแรกที่บริเวณเชิงภูผาเหล็ก ติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง บ.ถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 เวลา 14.00 น. โดยในพิธีทรงให้มีการบวงสรวงเทพารักษ์ เจ้าป่ามาสถิตย์อยู่ ณ ป่าแห่งนั้นด้วย และพระองค์ทรงปลูกป่าเป็นตัวอย่างด้วยพระองค์เอง จำนวน 1 ไร่ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า โครงการป่ารักน้ำ
6. โครงการศิลปาชีพ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีความห่วงใยประชาชนในชนบท พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอ ต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำงานศิลปาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ การดำเนินงานในศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพแต่ละแห่งจะจัดเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นและบุคคล เพื่อให้การฝึกอบรมแก่สมาชิก รวมทั้งจัดหางานให้สมาชิกดำเนินการเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของสมาชิกแต่ละกลุ่ม


ที่มา :
1. สมบัติ จำปาเงิน. วันสำคัญของเรา. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊ค, 2547.
2. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ : จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 / คณะกรรมการฝ่าย
     ประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2549