พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถอะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2468 ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี

เมื่อพุทธศักราช 2471 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึง 2 ปี และเมื่อมีพระชนมายุได้ 5 ปี ได้ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีก กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช 2676 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี พระเชษฐคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียน Miremont ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande, Chailly-sur-Lausanne เมื่อทรงรับประกาศนียบัตร Bachelier es Lettres จาก Gymnase Classique Cantonal แห่งเมืองโลซานน์แล้ว ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์

ในพุทธศักราช 2477 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งบรมชจักรีวงศ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช 2478 และได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกในพุทธศักราช 2481 โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช 2488 จึงโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง


ในวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องมาจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนิกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกศาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร กับหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระอิสริยยศ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลฯ ขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช 2493 และขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เมื่อพุทธศักราช 2495) ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 19 กรกฎาคม พุทธศักราช 2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในพุทธศักราช 2493 เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2493 ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน ปีเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาพิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิต์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาพระสุขภาพ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับในเมืองโลซานน์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2494 และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานสำหรับเป็นที่ประทับแทนการที่รัฐบาลจะจัดสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ในพุทธศักราช 2515 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ในพุทธศักราช 2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2500

  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2499 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ตลอดเวลา 15 วันที่ทรงพระผนวชอยู่ และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปณาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2500 หลังจากทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้วทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต กลับไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

    นับแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระอาการพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตลอดมา แต่พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15:52 น. สิริพระชนมายุ 88 ปี 313 วัน

    พระราชกรณียกิจ

    ด้านการศึกษา
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศและพัฒนาให้ประชาชนภายในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า "การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญ" ทรงส่งเสริมการศึกษาของประชาชนในชาติทั้งในเมืองและในชนบทถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพระราชทานโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลายโครงการ ได้แก่
  • ทุนอานันทมหิดล
  • โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
  • โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
  • โรงเรียนสอนเด็กที่ประสบเคราะห์กรรม
  • โรงเรียนร่มเกล้า
  • โรงเรียนราชประชาสมาสัย
  • โครงการสารานุกรมไทย
  • โครงการพระดาบส


  • ด้านการพัฒนาชนบท
    จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทำให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ เป็นต้น โดยเฉพาะการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้ไม่สามารถนำความเจริญต่าง ๆ เข้าไปถึงได้ จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาช่วยเหลือให้ประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทรงเน้นการพัฒนาอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ซึ่งจะต้องสร้างพื้นฐานให้มั่นคงก่อน และประการสำคัญจะต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ ต่อมาจึงพัฒนาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ วิธีการดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างความสำเร็จในแนวพระราชดำรินี้ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ เป็นต้น นักวิชาการทั้งหลายต่างก็ยอมรับกันว่าแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำรินี้ จะเป็นการพัฒนาประเทศแบบกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนผู้ยากไร้ในชนบท ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างดี ทรงก่อตั้งศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้มีความเจริญมากขึ้น ศูนย์พัฒนาอันเนื่องมากจากพระราชดำริมีทั้งหมด 6 ศูนย์ได้แก่
  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนตามแนวพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
  • ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต.ห้วยทราย จ.เพชรบุรี
  • ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส
  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านนกเค้า ต.ห้วยขวาง อ.เมือง จ.สกลนคร


  • ด้านสาธารณสุข
    การเสด็จเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารบ่อยครั้ง ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบเห็นประชาชนที่เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก จึงทรงก่อตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลและยากจน ขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การที่มีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผู้ป่วยทำให้ราษฎรได้มีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด รวมถึงโครงการอบรมหลักสูตร หมอหมู่บ้าน โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกนอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ เช่น โรงพยาบาลนราธิวาสโรงพยาบาลสกลนคร และโรงพยาบาลค่ายกาวิละจัดเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรที่เข้ารับการอบรมแล้วนำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง การอบรมจะเน้นเรื่องการสาธารณสุข เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเวชศาสตร์ป้องกันโรคอย่างง่าย การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐบาลเป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงให้จัดชุดหน่วยแพทย์พระราชทานขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นต้น


    ด้านการเกษตร
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการเกษตรมาตั้งแต่ขึ้นครองราชสมบัติ ด้วยทรงเห็นว่า ราษฎรส่วนใหญ่ในประเทศประกอบอาชีพหลัก คือ การเกษตรเป็นสำคัญ โดยมีพระราชดำริให้เกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตให้ดีขึ้น ทรงได้ค้นคว้าทดลองสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น วิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ใหม่ ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชปรับปรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช โครงการด้านการเกษตรที่ทรงตั้งขึ้น มีดังต่อไปนี้
  • โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเลี้ยงปลา ในปี พ.ศ. 2495 ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศในสระหน้าพระที่นั่งอุดรในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน
  • นาข้าวทดลอง ในปี พ.ศ. 2505 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวดีสำหรับนาดำ มาปลูกทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา
  • โรงโคนมสวนจิตรลดา
  • โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา
  • ห้องปฏิบัติการเนื้อเยื่อ
  • สวนสมุนไพร ในปี พ.ศ. 2529 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
  • โรงเห็ด ในปี พ.ศ. 2531
  • การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา
  • การเกษตรแบบยั่งยืน


  • ด้านการชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ
    เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรม หากเกิดความขาดแคลนหรือมีมากจนท่วมไร่นา ก็จะทำให้พืชผลได้รับความเสียหาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเริ่มโครงการชลประทานตามพระราชดำริขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากกรมชลประทานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาหาข้อมูลเพื่อพิจารณาจัดสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งนี้พระองค์จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรต้นน้ำลำธารจริง ๆ และตรวจสอบกับชาวบ้านเพื่อความถูกต้องของข้อมูลด้วยพระองค์เอง ก่อนจะทรงกำหนดแนวทางในการแก้ไขให้กรมชลประทานและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป


    ด้านการทหาร
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทย ทรงตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่ทำหน้าปกป้องบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังประสบกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และขบวนการโจรก่อการร้ายต่าง ๆ ในช่วงราวปีพุทธศักราช 2515 - 2520 ได้ทรงเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนทหาร ตำรวจ ตลอดจนอาสาสมัครที่ปฏิบัติราชการอยู่ตามแนวชายแดนเป็นประจำ พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพและเวชภัณฑ์ให้กับบรรดาทหารหาญเหล่านั้นด้วย และเมื่อทหารเหล่านั้นได้รับบาดเจ็บ เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็จะเสด็จฯ เยี่ยมด้วยพระองค์เอง สำหรับทหารที่พิการทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการสู้รบป้องกันชาติก็โปรด ฯ ให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพและฝึกฝนด้านงานอาชีพ เพื่อสามารถหาเลี้ยงชีพช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป ในกรณีที่ทหารเสียชีวิตในการทำงานเพื่อชาติ จะทรงพระกรุณาฯ พระราชทานทรัพย์อุปการะครอบครัวและช่วยการศึกษาบุตรของเขาเหล่านั้น กับจะทรงเสด็จฯไปร่วมในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพแก่บรรดาผู้กล้าเหล่านั้นด้วยพระองค์ทุกครั้ง


    ด้านการปกครอง
    เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยจะทรงบริหารปกครองประเทศผ่านทางรัฐสภาจึงทรงถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการที่จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยพระองค์เองทุกครั้งตลอดมา


    ด้านการศาสนา
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดูแลอุปภัมภ์ศาสนาทุกศาสนาที่มีอยู่ในเมืองไทย และในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ พระองค์ก็ทรงออกผนวช เช่นเดียวกันกับผู้ชายชาวพุทธส่วนใหญ่ โดยทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งในขณะที่ทรงผนวชก็ทรงปฏิบัติพระองค์ตามกฏระเบียบของสงฆ์อย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับพระภิกษุรูปอื่น ๆ
    พระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปทรงประกอบศาสนกิจอยู่เป็นนิตย์เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จฯ ไปบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปตามคำกราบบังคมทูลของคณะกรรมการวัดและของกรมศาสนา รวมทั้งยังทรงพระราชทาน ทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการปฏิสังขรณ์วัดที่ชำรุดทรุดโทรมต่าง ๆ อีกด้วย
    สำหรับศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามนั้น เมื่อมีการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปในงานพิธีสำคัญ ๆ ของศาสนานั้น ๆ ก็จะเสด็จฯ ไปทรงร่วมในพิธีด้วยเสมอเช่นกัน


    ด้านประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จะทรงถือปฏิบัติตามแบบแผนโบราณราชประเพณีดั้งเดิมทุกประการในการพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิเช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีของไทยให้คงอยู่สืบเนื่องตลอดไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าทรงเป็นอัครศิลปินแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ด้วยพระองค์ทรงเป็นเอตะทัคคะในศิลปะหลายสาขา ได้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งทางด้าน ดุริยางคศิลป์ ด้านทัศนศิลป์ และด้านวรรณศิลป์ ให้ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมากมาย
    นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภกแก่ศิลปะทุกแขนง เช่นทรงรับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์หลายสมาคม กับทรงอุปถัมภ์ศิลปินโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของศิลปินอาวุโสที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมกับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในคราวเจ็บป่วยตามสมควร


    ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    หลังจากที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงปีพุทธศักราช 2502 ถึง 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้เสด็จฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบยุโรป อเมริกาเหนือและเอเซียเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทรงนำความปราถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าหลังจากปีพุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา พระองค์จะมิได้เสด็จต่างประเทศอีก (ยกเว้นเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2517 นี้ได้ทรงเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หลังจากที่เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานร่วมในการเปิดสะพานเชื่อมระหว่างประเทศมิตรภาพไทย - ลาวแล้ว) เพราะทรงมีพระราชภารกิจในประเทศมากมาย แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศแทนเพื่อทรงนำวิทยาการและสิ่งที่ได้ไปทรงพบเห็นกลับมาใช้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

    ที่มา
    1. ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
    2. ศิริวรรณ คุ้มโห้. วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ .
    3. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539.