การจัดงานวันจักรี มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานโอกาสให้ประชาชนชาวไทย ได้แสดงกตเวทิคุณต่อพระมหากษัตริยาธิราช ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกรัชกาล โดยโปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีวันที่ระลึกมหาจักรีบรมวงศ์ขึ้นในปีดังกล่าว และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเป็น "วันที่ระลึกมหาจักรี" จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปีนับแต่นั้นมา

ประวัติความเป็นมา

ในปีพ.ศ. 2324 เกิดศึกทางกัมพูชา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ถืออาญาศิทธิ์เป็นแม่ทัพไปปราบ พร้อมกันนั้นยังได้ทรงถอดฉลองพระองค์พระราชทานให้ด้วย เหมือนกับจะเป็นบุพนิมิตว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปในภายหน้า
และการณ์ก็เป็นจริงดังนั้น ด้วยเพราะเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระสติฟั่นเฟือน เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับสู่พระนคร บรรดาเหล่าข้าราชการและราษฎรทั้งปวง จึงอัญเชิญให้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เพื่อปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สืบต่อไป ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้มีการสร้างพระนครขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับกรุงธนบุรีราชธานีเดิม และทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยพระราชทานนามว่า
"กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรัมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ" และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามใหม่เป็น "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ"
พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ได้ปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุก ตั้งมั่นอยู่ในทศพิศราชธรรม และสามารถนำพาประเทศชาติรอดพ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ มาได้ด้วยพระปรีชาสามารถไม่ว่าจะเป็น การล่าอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ฯลฯ
ดังนั้นคนไทยทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถือว่า วันที 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีทรมหาจักรีบรมนาถ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จสู่พระนคร ดำรงราชอาณาจักรสยามในวันแรก เป็นวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี ระยะเวลาตั้งแต่แรกตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปีพ.ศ. 2325 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เรียกว่า "สมัยรัตนโกสินทร์"

พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี




รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325-2352)





รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2352-2367)





รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394)





รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411)





รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453)





รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468)





รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477)





รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. 2477-2489)





รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489-2559)




กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันจักรี

1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
2. นำพวงมาลาหรือพุ่มดอกไม้ ไปถวายบังคมที่สถานพระบรมราชานุสรณ์ ฯลฯ
3. จัดนิทรรศการ ร่วมขบวนเฉลิมพระเกียรติ
4. จัดให้มีพิธีทางศาสนา


ที่มา :
1.ธนากิต. ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2539.
2.สมบัติ จำปาเงิน. วันสำคัญของเรา. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊ค, 2547.