ความสำคัญของวันฉัตรมงคล



          วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยพร้อมทั้งเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี


ประวัติความเป็นมาของการจัดพิธีบรมราชาภิเษก

          การจัดพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่จัดต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีมาแต่ครั้งพ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท
          ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์
          พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และที่สำคัญประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น



การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลในอดีต

          แต่เดิมเป็นงานพิธีเฉลิมฉลองของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในหกเดือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชาบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลอง จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย
          พระบาทสมเด็จรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดิสิมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
          ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษา ประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน




พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

ขั้นตอนการจัดงานฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน ดังนี้
          วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย


          วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


          วันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท




กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

  • ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  • ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
  • น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน



  • ที่มา :
    1.ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2541.
    2.สมบัติ จำปาเงิน. วันสำคัญของเรา. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊ค, 2547.
    3.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2563). ฉัตรมงคล. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ฉัตรมงคล
    4.K@POOK. (2563). วันฉัตรมงคล 2563 ในรัชกาลที่ 10. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://hilight.kapook.com/view/188122